ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า “บำเหน็จตกทอด หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่ทายาทโดยจ่ายให้ครั้งเดียวในกรณีที่สมาชิกหรือผู้รับบำนาญถึงแก่ความตาย”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เงินบำนาญตกทอดเป็นสิทธิที่เกิดจากการตายของข้าราชการ มิใช่สิทธิที่ข้าราชการมีอยู่ก่อนตายหรือในขณะที่ถึงแก่ความตาย จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตายตามนัยมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
นอกจากนี้ ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตกทอดไว้ ดังนี้
(1) บุตร 2 ส่วน ถ้ามีบุตร 3 คนขึ้นไป ให้ได้รับ 3 ส่วน (2) สามีหรือภริยา 1 ส่วน (3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดา ที่มีชีวิตอยู่ 1 ส่วน (4) บุคคลซึ่งผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้ตามแบบและวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด และได้ยื่นต่อส่วนราชการเจ้าสังกัดก่อนถึงแก่ความตาย
หากไม่มีผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตกทอดตามข้อ 1-4 หรือบุคคลนั้นได้ตายไปก่อน ให้สิทธิในบำเหน็จตกทอดนั้นเป็นอันยุติลง
ดังนั้น เงินบำนาญตกทอดจึงเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ทายาทของข้าราชการหรือผู้รับบำนาญที่ถึงแก่ความตาย โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มิใช่มรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์